เฝ้าระวังพื้นที่นาปรังลุ่มเจ้าพระยา หวั่นภัยแล้งกระทบ สศก. แนะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ถั่วเขียว-ถั่วลิสง พืชทดแทน ทนแล้ง ดูแลง่าย ตลาดต้องการสูง

 
ข่าวที่ 7/2563 วันที่  13 มกราคม 2563
เฝ้าระวังพื้นที่นาปรังลุ่มเจ้าพระยา หวั่นภัยแล้งกระทบ
สศก. แนะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ถั่วเขียว-ถั่วลิสง  พืชทดแทน ทนแล้ง ดูแลง่าย  ตลาดต้องการสูง
 
             นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63  ข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) จํานวน 4.54 ล้านไร่
โดยข้อมูลเบื้องต้นจากการรายงานผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ณ 8 มกราคม 2563 พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังแล้ว 3.12  ล้านไร่ หรือร้อยละ 68.72 ของแผน โดยในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.25 ล้านไร่  (แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.59 ล้านไร่ ซึ่งไม่อยู่ในแผนการเพาะปลูก และนอกเขตชลประทาน 0.66 ล้านไร่) คิดเป็น 2.14 เท่าของแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) ดังนั้น หากเกิดภัยแล้ง อาจจะเกิดปัญหาการพิพาทกันในเรื่องการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกร และปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่ รวมทั้งปัญหาในเรื่องที่เกษตรกรบางส่วนต้องซื้อน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้ข้าวที่ปลูกไปแล้วเสียหาย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มสูงขึ้น
             จากข้อมูล สศก. ปี 2562 พบว่า ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประมาณ 7.89 ล้านไร่ ซึ่งในปี 2563 เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.25 ล้านไร่ ดังนั้น จะเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ปลูกข้าวนาปรัง ประมาณ 5.64 ล้านไร่ โดย สศก. ได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมปลูกพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ พืชตระกูลถั่ว (ถั่วลิสง ถั่วเขียว) เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้ง และดูแลรักษาง่าย  โดย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตได้ปีละประมาณ 4.73 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 8.44 ล้านตัน ผลผลิตจึงขาดอีกประมาณ 3.71 ล้านตัน (คิดเป็นพื้นที่ปลูก 4.74 ล้านไร่) อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) มีเพียง 3.41 ล้านไร่ เท่านั้น ดังนั้น ควรส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) ในพื้นที่ที่เหมาะสม 3.41 ล้านไร่ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีต้นทุนการผลิต 4,370.18 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 7,810 บาท/ตัน เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการส่งเสริมปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม 1,737.24 บาท/ไร่ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 2.67 ล้านตัน (คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ 782 กก.) ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาแน่นอน เนื่องจากยังไม่เกินความต้องการใช้
                ถั่วลิสง เป็นพืชปรับปรุงบำรุงดิน โดยปัจจุบันผลิตได้ปีละประมาณ 32,810 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 115,000  ตัน ส่งผลให้ผลผลิตถั่วลิสงยังไม่เพียงพอประมาณ 80,000 ตัน ดังนั้น หากจะส่งเสริมปลูกถั่วลิสงทดแทนการปลูกข้าวนาปรังและให้เพียงพอกับความต้องการอีก 80,000 ตัน จะต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 0.23 ล้านไร่ (คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ 352 กก.) โดยถั่วลิสง มีต้นทุนการผลิต 5,943 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 56.09 บาท/กก. เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ถึง 13,800.68 บาท/ไร่ 
            ถั่วเขียว นอกจากเป็นพืชช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินแล้ว ยังใช้น้ำน้อยและดูแลรักษาง่าย ปัจจุบันผลิตได้ปีละประมาณ 112,485 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 134,000 ตัน ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเขียวยังไม่เพียงพอประมาณ 20,000 ตัน   ดังนั้น หากจะส่งเสริมปลูกถั่วเขียวทดแทนการปลูกข้าวนาปรังและให้เพียงพอกับความต้องการอีก 20,000 ตัน จะต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 0.14 ล้านไร่ (คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ 140 กก.) โดยถั่วเขียว มีต้นทุนการผลิต 2,397 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 21.71 บาท/กก. เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 642.40 บาท/ไร่ 
 
ข้อมูลการปลูกพืชทางเลือก ทดแทนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2563 (5.64 ล้านไร่) ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด
รายการ พืชทางเลือก รวม
  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง ถั่วเขียว  
1. ผลผลิตส่วนขาด (ล้านตัน) 3.71 0.08 0.02 -
2. ผลผลิตต่อไร่ (กก.) 782 352 140 -
3. คิดเป็นพื้นที่ปลูก (ล้านไร่) 3.41 (พื้นที่เหมาะสม) 0.23 0.14 3.78
4. ต้นทุนการผลิตต่อไร่ (บาท/ไร่) 4,370.18 5,943 2,397 -
5. ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ (บาท) 1,737.24 13,800.68 642.40 -
6. ผลตอบแทนสุทธิในภาพรวม (ล้านบาท) 5,950.39 3,120.31 98.62 -
***********************************


ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์  / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร